หน้าที่ของชาวพุทธที่ดี

       พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ดินแดนซึ่งเป็นประเทศไทยปัจจุบันนี้มานานเกินกว่า 2,000 ปีแล้ว คนไทยยอมรับว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเกินกว่า 90% นับถือพระพุทธศาสนาเรียกตนเองว่าเป็น “ชาวพุทธ” รวมทั้งองค์พระมหากษัตริย์คนไทยส่วนมากเป็นชาวพุทธกันโดยกำเนิด เนื่องจากชีวิตเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่เกิดจนตาย บางคนเกิดมาจึงเป็นชาวพุทธไปเลยทั้งที่มิได้ประกาศตนเองเป็นพุทธ แต่ถ้าจะถามคนทั่วๆไปว่าคำว่าชาวพุทธหมายถึงใครบ้าง ก็คงจะได้คำตอบว่าก็ชาวบ้านชายหญิงที่เป็นเด็กหนุ่มสาวเฒ่าแก่ทั่วๆไปนั้นแหละ คือมองแต่เพียงเฉพาะชาวบ้านทั่วไปว่าเป็นชาวพุทธ ความจริงความหมายของชาวพุทธนั้น หมายถึง ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหมด ซึ่งรวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พุทธบริษัท” นั่นเองพุทธบริษัทมี 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่ปัจจุบันนี้คงมีเพียง3 เพราะภิกษุณีได้ขาดตอนไปแล้ว ที่เราเห็นนางชีนั้นก็คือ อุบาสิกาผู้ถือศีล 8 นั่นเอง       ความเป็นจริงพระพุทธศาสนานั้นได้ให้เกือบทุกอย่างแก่คนไทยและสังคมไทย ทั้งในด้านความเป็นอยู่ ชีวิต ทัศนคติ อุดมคติ วัฒนธรรมเช่น สอนให้ช่วยตนเองให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันและกัน อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้หลักผู้ใหญ่ต่างๆแต่สังคมไทยในหมู่พุทธบริษัททุกวันนี้ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นตลอดมา ทั้งที่พระพุทธศาสนาแก้ปัญหาได้ทุกประการ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะพุทธบริษัทได้ละเลยต่อการปฎิบัติตามหลักคำสอนสั่ง ไม่สนใจต่อการประพฤติปฎิบัติ “ธรรม” ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสไว้ว่า พระพุทธศาสนาจะเสื่อมหรือเจริญก็อยู่ที่การประพฤติปฎิบัติของบริษัททั้ง 4หากปฎิบัติโดยชอบก็ทำให้เจริญ หากปฎิบัติไม่ชอบก็ทำให้เสื่อมสูญ การประพฤติปฎิบัติธรรมตามคำสั่งสอนนั้นก็คือ การทำ  “หน้าที่” ของพุทธบริษัทเพราะความหมายหนึ่งของธรรมะนั้นก็คือการปฎิบัติตามหน้าที่ เมื่อพุทธบริษัทได้ปฎิบัติตนตามหน้าที่ของพุทธบริษัทที่ดี ก็ทำให้ได้รับผลเป็นความสุขความเจริญและดำรงพระพุทธศาสนาอยู่ได้ หากพุทธบริษัทปฎิบัติหน้าที่ไม่ถูกไม่ควรก็เป็นผลตรงกันข้าม
        เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทจึงควรจะต้องปฎิบัติ “หน้าที่ของชาวพุทธที่ดี” ตามคุณสมบัติซึ่งพอจะอธิบายได้ ดังนี้
        1. หน้าที่ที่จะต้องรู้จักวัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนา การทำงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของโครงการใหญ่หรือเล็ก
        ผู้ปฎิบัติจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นลำดับแรก ทั้งนี้เพื่อผู้ปฎิบัติจะได้เข้าสู่เป้าหมายได้ถูกทิศทางและไม่ล้มเหลวได้ง่าย พระพุทธศาสนาก็เป็นเช่นเดียวกัน
พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักปฎิบัติที่มีจุดมุ่งหมายอย่างแน่ชัดไว้แล้วว่า “เพื่อความพ้นทุกข์และหมดจดแห่งกิเลสทั้งปวง” โดยที่ได้ทรงเล็งเห็นว่า แม้บุคคลจะมีชีวิตอยู่อย่างสำราญทางด้านวัตถุเพียงใด แต่จิตใจก็ยังไม่พ้นไปจากความเร่าร้อนแห่งกองกิเลสและไม่พ้นไปจากความทุกข์อันได้แก่ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นภัยอันใหญ่หลวงของสัตว์ทั้งหลายไปได้จึงได้ทรงตั้งพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะออกผนวช เพื่อแสวงหาสัจธรรมที่จะทำให้พ้นจากทุกข์ดังกล่าวได้ นั่นคือจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของพุทธศาสนา การรู้จักวัตถุประสงค์ย่อมเป็นผลดีที่จะทำให้ผู้ปฎิบัติได้รับผลที่ถูกต้อง ไม่เสียเวลาในการประพฤติปฎิบัติแต่คนไทยส่วนมากที่เรียกตนเองว่าชาวพุทธนั้นไม่เคยเข้าใจวัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแท้จริงเลยมักถือกันว่าตระกูลของตนได้เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนามาก่อน อนุชนลูกหลานรุ่นหลังก็นับถือต่อไปตามทะเบียนสำมะโนครัว จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาที่ว่า”เพื่อความพ้นทุกข์นั้น”ก็ยังแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ การประพฤติปฎิบัติตามโลกิยธรรม ก็เป็นผลให้ได้รับความสุขความสมบูรณ์ในระดับชาวบ้านผู้ครองเรือนและการประพฤติปฎิบัติในระดับโลกุตรธรรมนั่นแหละจึงจะเป็นผลให้ได้รับการพ้นจากทุกข์อย่างสิ้นเชิงจึงต้องรู้จักจุดมุ่งหมายดังกล่าวนั้นเพื่อที่จะได้ไม่ประพฤติปฎิบัติออกนอกลู่นอกทาง จากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่หลงติดอยู่กับสวรรค์วิมานใดๆ อันเป็นผลได้ตามทางผ่านเสียก่อนที่จะถึงความสงบอันจะทำให้เกิดความสว่างทางปัญญาต่อไป คนที่ไม่รู้จักจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาก็เลยไม่รู้จักคุณของพระศาสนาคิดว่าเป็นของคร่ำครึไม่ทันสมัยไม่ก่อให้เกิดผลประการใดๆ จนกระทั่งเกิดเป็นปัญหายุ่งยากในสังคมทุกวันนี้
       2. หน้าที่ที่จะต้องปฎิบัติให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หน้าที่ในการประพฤติปฎิบัติของชาวพุทธที่เป็นคุณธรรมตรงตามวัตถุประสงค์เพื่อความพ้นทุกข์นั้นมีหลายประการ โดยรวบยอดที่จะถือเป็นหลักชัยของพุทธศาสนา ซึ่งเรียกว่าหลักของพระพุทธศาสนาเป็น 3 ประการคือ ละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง 1 ถึงพร้อมด้วยการทำความดี 1 ทำจิตให้สดใสผ่องแผ้ว 1 แต่ถ้าแยกเป็นแนวปฎิบัติก็จะมีหลายประการ ดังกล่าวในที่นี้จะได้ยกข้อธรรมที่ชาวพุทธจะต้องถือเป็นหน้าที่เพื่อความก้าวหน้า ความดี ความงามของตนเองคือ ข้อธรรมที่ว่าด้วยประโยชน์ 3 ประการและคุณสมบัติอุบาสก 5 ประการ ดังจะได้แยกกล่าวต่อไปดังนี้
       2.1 ประโยชน์ 3
       2.1.1 ประโยชน์ปัจจุบัน 4 อย่าง
       2.1.1.1 อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่นในการประกอบการงาน การทำธุระหน้าที่ศึกษาเล่าเรียนเพื่อเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตของตนเพราะการงานนั้นคือหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย สิ่งมีชีวิตต้องทำหน้าที่ คนไม่ทำหน้าที่คือคนตาย สัตว์ไม่ทำหน้าที่คือสัตว์ตาย ต้นไม้ต้นไร่ก็ทำหน้าที่ของมันเพราะการงานคือหน้าที่ของชีวิตหรือเรียกว่าธรรมะ เพราะธรรมะก็คือหน้าที่แต่การทำหน้าที่นั้นจะต้องเป็นไปเพื่อความดีงามความถูกต้องที่เรียกว่ากุศลกรรมเป็นหลักทำอย่างมีความตั้งใจให้สำเร็จ ไม่ปล่อยให้คั่งค้างอากูล ไม่เป็นมงคล เพราะการผลัดวันประกันพรุ่งนั้นไม่ใช่วิสัยของพุทธบริษัทเมื่อเรามีความหมั่นในการประกอบการงานแล้วความเจริญและประโยชน์จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง
       2.1.1.2 อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการเก็บรักษาทรัพย์ที่หาได้จากการทำหน้าที่นั้นๆ ไม่ให้เสื่อมเสียไป รู้จักการใช้จ่าย ไม่ให้เกิดปัญหาต่อชีวิตและครอบครัว รู้จักอดทน อดออม รู้จักอิ่ม รู้จักพอในสิ่งบริโภคใช้สอย
       2.1.1.3 กัลยาณมิตตา คบแต่คนดี ไม่คบคนชั่ว มิตรสหายเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องกระทำหน้าที่ในกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เป็นผู้บอกประโยชน์ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเราได้เกิดภัยอันตรายก็เป็นที่พึ่งพิงได้ แม้ในมงคลสูตรพระพุทธองค์ก็ยังยกการคบคนคบเพื่อนไว้เป็นเบื้องต้นว่า ไม่คบคนพาลให้คบแต่บัณฑิตเพราะบัณฑิตจะแนะนำให้เราพบกับความสุขได้
       2.1.1.4 สมชีวิตา การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่ทรัพย์ที่หาได้โดยไม่ฝืดเคืองและฟูมฟาย รู้จักความจำเป็นและไม่จำเป็น ไม่ทำสิ่งใดตามที่ใจต้องการมากเกินไป ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหารู้จักการตัดสินใจว่า อะไรจะเป็นประโยชน์และพอดีกับอัตภาพของตน สิ่งใดจำเป็นมากสิ่งใดจำเป็นน้อยต้องนำมาเปรียบเทียบกันการดำรงชีวิตจึงจะเป็นไปโดยราบรื่น
       2.1.2 ประโยชน์ภายหน้า 4 อย่าง
       2.1.2.1 สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันเป็นหลักของกรรมในพระพุทธศาสนาที่จะส่งผลให้ผู้กระทำได้รับในโอกาสต่อไปได้
       2.1.2.2 ศีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้มีศีล คือการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดโทษทั้งตนเองและผู้อื่น
       2.1.2.3 จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน เป็นการเฉลี่ยความสุขให้แก่ผู้อื่น เป็นหลักสังคมสงเคราะห์ในหมู่มนุษย์ด้วยกัน ซึ่งประสบปัญหาไม่เหมือนกัน การให้จึงเป็นการประทับตราแห่งความสุขทางจิตใจอย่างถาวร
       2.1.2.4 ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความมีปัญญา การรู้จักบาป บุญ คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์แล้วเลือกทำในสิ่งที่ดี ละเว้นจากการทำในสิ่งชั่วเพราะการกระทำเกิดจากความคิด คือปัญญา มีปัญญาดีก็คิดดี พูดดี ทำดี มีผลเป็นสุข
       2.1.3 ประโยชน์อย่างยิ่ง  คือการพ้นทุกข์ทั้งปวงที่เรียกว่า “พระนิพพาน” การประพฤติปฎิบัติใน 2 ข้อแรกเป็นไปเพื่อ
โลกิยธรรม คือหน้าที่ที่ให้ความสุขในโลกของชาวบ้านคนครองเรือนทั่วไป แต่การประพฤติปฎิบัติในข้อนี้เป็นไปเพื่อโลกุตรธรรม คือ ให้ผลเป็นความสงบ ความสว่างแห่งจิตใจ การทำใจให้อยู่เหนืออารมณ์ทั้งปวง ย่อมถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จิตใจที่มีความมั่นคงเป็นปกติก่อให้เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงละความยึดถือเสียได้ไม่เกิดความยินดียินร้าย ความกำหนัดขัดเคือง หลงใหลมัวเมาใดๆ นั่นคือการชนะทุกข์ทั้งปวงอันประกอบด้วยกิเลสตัณหา และภัยจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย แม้ในเวลาปัจจุบันในการประพฤติปฎิบัติตามประโยชน์ทั้ง 2 ข้างต้นให้ผลเป็นสุขในปัจจุบันและภายหน้านั้นหากเราไม่ปฎิบัติควบคู่ไปกับประโยชน์อย่างยิ่งในข้อนี้แล้ว การทำมาหากินก็จะเกิดความละโมบโลภมากไม่รู้จักพอแม้โดยสุจริตก็ตาม ซึ่งในทางโลกก็ยอมรับกันว่าเป็นคนดีรู้จักทำมาหากินแต่ในทางธรรมถ้าไม่รู้จักปล่อยวางยังยึดมั่นถือมั่นอยู่ก็จะเกิดปัญหาต่อจิตใจในวาระที่สุดได้เพราะสิ่งทั้งหลายไมเ่ที่ยง ถ้าทรัพย์ที่หามาได้หรือตัวของเราเองต้องเกิดความพลัดพรากจากกันไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะเกิดความโทมนัสเสียใจ อาลัยอาวรณ์พะวงห่วงใยไม่สงบลงได้จึงต้องรู้จักปฎิบัติหน้าที่อันเกิดจากประโยชน์อย่างยิ่งนี้
       2.2 สมบัติอุบาสก 5
       2.2.1 ประกอบด้วยศรัทธา คือ เชื่อในพระรัตนตรัยอันประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เอง พระธรรมคำสั่งสอนทำให้ผู้ประพฤติปฎิบัติหลุดพ้นจากทุกข์ พระสงฆ์เป็นผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติตรง เพื่อความพ้นทุกข์ด้วยใจอันมั่นคงไม่คลอนแคลน
       2.2.2 มีศีลอันบริสุทธิ์ แม้เพียงศีล 5 ถ้าพยายามรักษาให้บริสุทธิ์จะเป็นหลักประกันได้คือ ประกันชีวิต ประกันทรัพย์สมบัติ ประกันครอบครัว ประกันการคบหาสมาคมในทางการพูดและประกันตนเองไม่ให้เของขลังแทนการระลึกถึงคุณของพระ ซึ่งไม่ถูกต้องได้
       2.2.3 ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรมไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว มั่นคงในการประกอบกรรมดีอันจะเป็นผลให้ตนเองได้ดีเพราะความดี ความเลว ทุกข์ สุข เสื่อม เจริญ เกิดจากการกระทำของตนเอง ไม่ใช่มาจากสิ่งภายนอก โชคลาง ดาวเดือน หรือสิ่งใดจะมาเป็นมงคลแก่เราไม่ได้
       2.2.4 ไม่แสวงหาบุญนอกเขตพระพุทธศาสนา คือไม่ทำบุญนอกพระพุทธศาสนา เช่น การบูชายัญ การบูชาไฟ ฯลฯ บุญที่แท้ของพระพุทธศาสนา คือ บุญกริยาวัตถุ 10 ประการเท่นั้น
       2.2.5 บำเพ็ญบุญแต่ในพระพุทธศาสนา ก็คือการบำเพ็ญบุญตามกริยาวัตถุ คือ ทาน ศีล ภาวนา ประพฤติ อ่อนน้อมถ่อมตนขวยขวายช่วยกิจการของคนอี่นให้ส่วนบุญอนุโมทนาส่วนบุญ ฟังธรรม แสดงธรรมและทำความคิดเห็นให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา
       3. หน้าที่ในการปฏิบัติให้เป็นการแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของพุทธศาสนิกชน เอกลักษณ์หมายถึงลักษณะเด่นหรือลักษณะที่เป็นหนึ่งไม่เหมือนใคร เช่น การแต่งกายของแต่ละชาติแต่ละภาษาก็มีเอกลักษณ์ของตน ทำให้เรามองออกว่าถ้าแต่งกายอย่างนั้นๆก็เป็นคนของชาตินั้นๆในทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนก็เหมือนกัน เรามีข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้ทราบได้ทันทีว่าผู้นั้นเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่หลายอย่างหลายประการ แต่พอจะรวบรวมไว้เป็นแนวทางไว้ 9 ประการคือ
       3.1 แสดงตนเป็นพุทธมามกะแต่ยังเยาว์ ศาสนิกชนหลายศาสนามีการแสดงออกต่อผู้อื่นหรือต่อสาธารณะชนว่าตนได้เข้าเป็นสมาชิกหรือเข้านับถือศาสนานั้นๆแล้ว แต่ของพุทธศาสนาแต่เดิมมาก็มักจะถือกันว่านับถือพุทธศาสนาตามบิดา มารดา ไม่ได้มีการแสดงตนหรือสมัครเข้าเป็นสมาชิกแต่อย่างใดเลย ทำให้ตัวเองบางทีก็สงสัยว่าเป็นชาวพุทธขื้นมาด้วยวิธีใด ฉะนั้นลักษณะที่น่าจะยอมรับกันไว้ข้อแรกก็คือ ให้ได้เข้าพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ถึงซึ่งพระรัตนตรัยเป็นที่พึงที่ระลึกเสียแต่ยังเยาว์ เริ่มตั้งแต่เข้าโรงเรียนซึ่งสถานศึกษาหรือสถาบันพุทธศาสนาหลายแห่งได้กระทำกันอยู่แล้ว
       3.2 มีที่บูชาประจำบ้าน เพื่อเป็นที่เคารพกราบไหว้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ไม่จำเป็นต้องที่ใหญ่ เพียงหิ้งเล็กๆพอตั้งพระพุทธรูปได้องค์เดียว เพราะการมีมากองค์จะทำให้การบูชามุ่งไปทางเครื่องลางของขลังแทนการระลึกถึงคุณของพระซึ่งไม่ถูกต้องได้
       
3.3 ไหว้พระสวดมนต์ประจำวัน เป็นการเสริมข้อต้นๆ ทั้ง 2 คือการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ให้รู้จักความกตัญญูตามหลักธรรมระลึกถึงคุณของผู้มีพระคุณมีบิดามารดาครูอาจารย์ อย่างน้อยก่อนเข้านอนวันละครั้งตามโอกาสแล้วตั้งใจทำความสงบทางใจเพื่อสร้างพลังกุศลแผ่เมตตาต่อสัตว์ทั้งหลายต่อไป
       3.4 ตักบาตรตามกำลังของตน เพื่อเป็นการสืบพระศาสนาด้วยการบำรุงพระภิกษุสงฆ์ให้ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย นำมาเผยแผ่แก่ประชาชนทั่วไปให้ประพฤติปฎิบัติทั้งเป็นการฝึกใจในการบริจาคทานด้วยแม้ทำไม่ได้ทุกวันก็อาจทำในวันเกิดหรือวันสำคัญทางศาสนาก็ได้
       3.5 ฟังธรรมเป็นนิจ ในวันพระหรือวันอาทิตย์ได้เข้าวัดฟังธรรมหรือแม้ทางสื่อสารมวลชนที่เผยแพร่อยู่ทั่วไป
       3.6 ทำบุญและประกอบพิธีตามฤดูกาล เช่น วันสำคัญทางศาสนาหรือพิธีบำเพ็ญบุญต่างๆ ตามฤดูกาลนั้นๆ
       3.7 แสดงความเคารพเมื่อผ่านปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ที่ประพฤติตนสมควรแก่การกราบไหว้ในฐานะสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
       3.8 มีเบญศีล เบญจธรรม ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นที่จะให้คนละเว้นความชั่วแล้วทำความดีอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
       3.9 ผู้ชายควรบวชตามโอกาสอันควร แม้จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะแล้วหรือเข้าเป็นสมาชิกของชาวพุทธแล้วยังมีอีกองค์การหนึ่งที่ผู้ชายควรหาโอกาสเข้าเป็นสมาชิกเพื่อศึกษาปฎิบัติยอมสละกายใจและเวลาเพื่อบวชเป็นภิกษุตามโอกาสและความสนใจ ข้อสำคัญต้องรู้จุดมุ่งหมายของการบวชว่าเพื่ออะไร ต้องปฎิบัติอย่างไร มิใช่มีวัตถุประสงค์ เช่น บวชหน้าศพ บวชแก้บน บวชให้บิดามารดา บวชเพื่อแต่งงานหรือเพื่อประเพณีเท่านั้น
       จึงพอสรุปได้ว่า “หน้าที่ของชาวพุทธที่ดี” นั้นก็คือ การประพฤติปฎิบัติอย่างเข้าใจในพระพุทธศาสนา ตามธรรมคือหน้าที่ดังกล่าวแล้ว รวมลงเป็นคำสั้นๆ ว่า ”ยึดหลักธรรมเป็นคติประจำใจ ยึดความมีระเบียบวินัยเป็นทางดำเนินชีวิต” ด้วยประการฉะนี้

< กลับสู่หน้าหลัก

 
Free Web Hosting