หลักประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา

       ในสมัยข้าพเจ้าเป็นเด็กนักเรียนบ้านนอก หลังจากโรงเรียนเลิกหรือวันโรงเรียนหยุด ข้าพเจ้าจะช่วยบิดาเลี้ยงควายในท้องทุ่ง นอกจากควายของบิดาข้าพเจ้าแล้วก็ยังมีของผู้อื่นในละแวกเดียวกัน ในท้องทุ่งจึงมีควายฝูงใหญ่พอสมควรทีเดียว ควายทุกตัวมันจะแทะเล็มหญ้าไปอย่างเพลิดเพลินทุกตัวไม่เกะกะเกเรกัน ตลอดเวลาจนถึงยามเย็นมากแล้วจะมีบางตัวเข้าจับกลุ่มกันเพื่อเดินทางลงหนองน้ำแช่ตัวดื่มกินตามที่ต้องการ ขณะนั้นก็จะมีตัวอื่นๆอีกเดินตามกันไปทั้งหมด ทุกตัวหยุดและเล็มหญ้าทันทีเพื่อลงหนองน้ำโดยพร้อมเพรียงกัน จากนั้นสักพักใหญ่หลังจากแช่ตัวจนพอใจแล้ว กลุ่มแรกที่เดินลงก็จะเดินขึ้นจากหนองน้ำทุกตัวต่างก็ตามกันขึ้นด้วยอย่างมีระเบียบเช่นกัน เวลานั้นข้าพเจ้าไม่ได้คิดอะไรถึงขณะนี้ พอจะนึกได้ว่าแม้สัตว์เดียรัจฉานทำไมจึงได้มีการแสดงออกเช่นนั้น ความจริงเป็นลักษณะของการปฎิบัติตามกันในความเห็นของหมู่มากถ้าหมู่มาก เขาจะเอาอย่างไร ทุกๆหน่วยของสมาชิกในหมู่นั้นก็เห็นด้วยและทำอย่างนั้นนี่ ไม่เฉพาะในหมู่ของควาย แม้สัตว์เดียรัจฉานอื่นก็เป็นได้ เช่น เป็ด ไก่นก ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน พฤติกรรมของสัตว์อย่างนั้นอาจสงเคราะห์ได้กับหลักประชาธิปไตยของมนุษย์ที่เรียกหากันอยู่ทุกวันนี้ก็ได้ ส่วนในหมู่มนุษย์นั้นคำว่า “ประชาธิปไตย” มนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้นเองเพราะถือว่ามีมันสมองเลิศกว่าสัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้นถ้าลักษณะของการแสดงออกก็ดี แนวความคิดก็ดี จะขัดแย้งกันบ้าง แต่เมื่อยอมรับให้ไปกันได้กับเสียงส่วนใหญ่แล้ว ก็เรียกกว่าการมีประชาธิปไตยว่าโดยความหมายก็คือ ถือความเป็นใหญ่ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง จะเป็นในหลักของการปกครองการบริหาร หรือการกระทำกิจกรรมร่วมกันประการใดก็ตาม เช่นในหลักการบริหารประเทศรัฐธรรมนูญกำหนดว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยคือ อำนาจในความเป็นใหญ่การกำหนดทิศทางวางแผนการบริหารประเทศเป็นของประชาชนชาวไทยทุกคน ในทางปฎิบัติเรายอมรับในการเลือกตัวแทนไปทำหน้าที่แทนในรัฐสภา เรียกว่าผู้แทนราษฎรการประชุมร่างกฎหมาย แก้ไข ยกเลิกกฎหมาย ก็ต้องกระทำกันตามความเห็นของเสียงส่วนใหญ่จากผู้แทนราษฎรนั้น นี่เรียกว่าหลักประชาธิปไตยของมนุษย์ส่วนจะผิดจะถูกอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป นอกจากนั้นประชาธิปไตยยังหมายถึงการมีอิสระเสรีในการพูด การเขียน และการกระทำอื่นๆภายในขอบเขตของกฎหมายด้วย
        ในโลกนี้มีประเทศที่มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยกันหลายประเทศทั้งที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมีประธานาธิบดีเป็นประมุข แต่ในสังคมของคนที่ยังต่างความคิดกันอยู่การดำเนินการใดๆ แม้จะกระทำไปตามมติของส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกติกาที่ตกลงกันไว้แล้วก็ตาม ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะการที่คนไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตยประการหนึ่งหรือเข้าใจแต่ไม่อยากจะยอมรับกติกาประการหนึ่ง หลักประชาธิปไตยของสังคมมนุษย์ในโลกจึงหาจุดแน่นอนไม่ได้ทั้งอาจมีปัญหาตลอดกาลก็เป็นได้
        ในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าแสดงไว้ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัญณาสก์ หมวด 50 สูตรที่ 1 วรรค 4 ชื่อ เทวทูตวรรค ทรงแสดงอธิปไตย คือความเป็นใหญ่ไว้เป็น 3 ประการคือ
        1. อัตตธิปไตย คือการปรารภตนเป็นใหญ่อำนาจอยู่ในคนๆเดียว ซึ่งเป็นได้ทั้งระบบกษัตราธิปไตยหรือระบบเผด็จการ การปกครองในระบบ อัตตาธิปไตยนี้จะนับว่าเป็นระบบที่ไม่ดีเสียทีเดียวก็ไม่ได ้แต่อาจจะเป็นการปกครองที่ดีที่สุดแบบหนึ่งด้วยเพราะการมีอำนาจสิทธิ์ขาดในคนๆเดียว อาจทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองไปรวดเร็วก็ได้หรืออาจจะทำให้บ้านเมืองหายนะเร็วก็ได้เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าก็เคยปกครองในแบบอัตตาธิปไตยหรือเอกาธิปไตยเหมือนกัน ในสมัยที่พระองค์ทรงประกาศศาสนาใหม่ๆ ถ้าจะเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนพระพุทธเจ้าเป็นเผด็จการเพราะทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่พระองค์เพียงองค์เดียว เช่นการจะให้กุลบุตรคนใดคนหนึ่งมาบวชในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ก็จะตรัสเพียงสองคำว่า เอหิภิกขุ อุปสมปทา เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด ก็เป็นพระแล้วไม่ต้องทำพิธีอะไรมากมาย แต่เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้อยู่เหนือโลกไม่ใช่อยู่ในอำนาจของโลกีย์วิสัยแล้ว ฉะนั้นแม้การปกครองแบบอัตตธิปไตยก็เป็นการปกครองที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ เป็นการเริ่มต้นที่พระองค์จะทรงปฎิวัติหรือปฎิรูปสังคมจึงจำเป็นต้องวางรากฐานให้มั่นคงก่อน ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะต้องได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีใจบริสุทธิ์จริงๆเข้ามาช่วยทำจึงจะทำให้การปกครองของสังคมนั้นๆ เป็นไปอย่างมีขั้นตอนปราศจากปัญหาใดๆ
       2. โลกาธิปไตย การปรารถโลกเป็นใหญ่ เป็นการปกครองที่ยึดเสียงของคนหมู่มากเป็นใหญ่แล้วแต่สังคมจะไปทางไหนยังไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผลว่าจะดีหรือไม่ดีถ้าส่วนใหญ่ว่าอย่างไรก็เอาอย่างนั้น การปกครองลักษณะนี้จัดเข้ากันได้กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ชาวโลกกำหนดให้เป็นการปกครองระบบหนึ่งเหมือนกันคำสั่งสอนของพระพุทธองค์เน้นหนักไปในทางประชาธิปไตย คือหลักประชาธิปไตยมีความสอดคล้องกับหลักของพระพุทธศาสนาหลายประการ แต่อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่าพระพุทธองค์ทรงอยู่เหนือโลกนอกอำนาจของโลกีย์วิสัย ระบบโลกาธิปไตยหรือหลักประชาธิปไตยของพระพุทธศาสนาจึงเป็นไปด้วยเหตุผลและคำนึงถึงสิ่งที่ถูกต้องประการเดียว ผิดกับหลักประชาธิปไตยของชาวโลกดังที่กล่าวในข้อ 1 ว่า อัตตาธิปไตย พระองค์ทรงเป็นเผด็จการในระยะแรกเมื่อปูฐานของศาสนาเพื่อการเผยแผ่อย่างมี
ประสิทธิภาพแล้วพระองค์ก็ทรงอนุญาตให้พระอรหันต์สาวกทั้งหลายอุปสมบทแก่กุลบุตรได้โดยไม่ต้องนำไปเฝ้าพระองค์ การอุปสมบทแบบนี้เรียกว่าแบบ"ติสรณคมณูปสมปทา"การถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกเป็นคล้ายแบบคณาธิปไตยคือกล่าวคำนึงถึงพระรัตนตรัยต่อพระอรหันต์สาวกที่พระพุทธองค์ได้ทรงมอบหมายแล้วก็เป็นภิกษุได้ต่อเมื่อมีพระสงฆ์เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ทรงเห็นว่าการปกครองแบบนั้นเป็นการดีเฉพาะบางยุคบางสมัยเท่านั้น ไม่ดีตลอดไปเพราะหากว่าบุคคลที่มามีอำนาจต่อไปไม่มีศีลธรรมการปกครองก็จะล้มเหลว ฉะนั้นต่อมาพระพุทธองค์จึงได้มอบหมายให้คณะสงฆ์เป็นใหญ่ในการปกครองจนกระทั่งการปกครองในระยะหลังในการอุปสมบทหรือการรับกุลบุตรเข้าสู่หมู่คณะจึงกระทำโดยวิธี “ญัตติจตุถกรรมวาจา” เช่นการบวชอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ หมายถึงการประชุมสงฆ์ในการทำสังฆกรรมใดๆก็ตามต้องเป็นโดยเสียงส่วนใหญ่ของหมู่คณะอย่างเอกฉันท์ นี่เป็นหลักประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา
       3. ธรรมมาธิปไตย การปรารภธรรมคือเหตุผล ความถูกต้อง ความดี ความงามเป็นใหญ่ ฉะนั้นระบบโลกาธิปไตยหรือประชาธิปไตยดังที่กล่าวข้างต้นจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องมีความเคารพในธรรม ความถูกต้องและเหตุผล พระพุทธองค์ทรงยกย่องธรรมาธิปไตยว่าเป็นเลิศ หมู่คณะของสงฆ์ที่เป็นใหญ่ในการปกครองดูแลจึงต้องเป็นคณะสงฆ์ที่มีหลักของธรรมธิปไตย คือยึดเหตุผล ความถูกต้องและความดีงามเป็นหลักด้วย
       กล่าวโดยใจความก็คือหลักประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนาจะต้องอาศัยหลักของธรรมธิปไตยเป็นเครื่องประกอบด้วยแต่ธรรมาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์ก็ต้องประกอบด้วยรากฐานที่สำคัญดังนี้
       3.1 ความเสมอภาค พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์ทุกคนมีสภาพเป็นเวไนยสัตว์ คือสอนได้ เรียนได้ ปรับปรุงตนเองได้ มนุษย์จึงมีสภาพเท่าเทียมกันไม่ว่ายากจน มั่งมีผู้ดี ไพร่ สูง ต่ำ ดำ ขาวทุกคนมีโอกาสบรรลุธรรมขั้นสูงถึงความพ้นทุกข์ได้ หากใช้ความเพียรปฎิบัติโดยถูกต้องและปฎิบัติตามคำสั่งสอนดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้โดยย่อว่า “กุลบุตรจากสกุลกษัตริย์หรือพราหมณ์หรือแพศย์หรือศูทรก็ตาม ได้อาศัยธรรมและวินัยอันตถาคตประกาศแล้วย่อมประสบความสำเร็จและนำตนให้ออกจากทุกข์ได้” หรือแม้ในหลักเกณฑ์การมีเครื่องนุ่งห่มภิกษุเก่าหรือภิกษุผู้มาใหม่จะแก่พรรษาหรืออ่อนพรรษากว่ากันก็มีความเสมอภาคคือ มีผ้ากาสาวพัสตร์ที่เหมือนกันหมด
       3.2 ความมีเสรีภาพ พระองค์ทรงสั่งสอนและทรงส่งเสริมให้มนุษย์มีสิทธิเท่าเทียมกัน ให้เลิกระบบทาสไม่มีการซื้อขายมนุษย์ห้ามภิกษุมีทาสไว้รับใช้ ที่สุดทรงสอนให้เลิกทาสภายในได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง และให้มีเสรีภาพในการประพฤติปฎิบัติให้ถูกต้องตามหลักคำสอนโดยที่ไม่ได้กำหนดโทษให้ปรากฎในทางวัตถุหรือทางร่างกายแต่ได้กำหนดให้ได้รับผลทางจิตใจในการที่จะควบคุมตักเตือนตนเอง หากประพฤติปฎิบัตินอกลู่นอกทางจากคำสั่งสอน ก็จะได้รับโทษที่ให้ผลเป็นทุกข์ทางใจของตนเองที่เรียกว่า “อาบัติ” เราจึงเห็นกันว่าพระภิกษุทั่วๆไปในสายตาของชาวบ้านจะมองไม่ออกว่าองค์ใดได้ประพฤติผิดล่วงธรรม ล่วงวินัยไปแล้วอย่างใดบ้างนั่นเป็นลักษณะเสรีภาพในการควบคุมตนเองให้อยู่กับการประพฤติปฎิบัติต่อคำสั่งสอนที่ถูกต้องต่อไป
       3.3 ความมีศีลและวินัย พระพุทธศาสนายืนยาวมากว่า 2,000 ปี ก็เพราะพระสงฆ์มีวินัย พระพุทธองค์ทรงปกครองสงฆ์ด้วยธรรมาธิปไตยคือให้พระสงฆ์มีวินัย เมื่อพระสงฆ์มีวินัยก็สามารถปกครองตนเองได้ดีมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในตัวเองเพราะประชาธิปไตยจะมีโดยสมบูรณ์ต่อเมื่อทุกคนได้รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง รับผิดชอบตนเอง เคารพในสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่นไม่ล่วงเกินก้าวก่ายกันเพราะพระสงฆ์อาจจะต้องไปอยู่ป่าองค์เดียว อยู่ถ้ำองค์เดียวหรือจาริกไปองค์เดียว จึงต้องมีศีล มีวินัย คุ้มครองดูแลตนเองหรือถ้าจะเข้าสู่หมู่คณะก็จะต้องรักษากาย วาจา ใจ ที่จะประพฤติปฎิบัติต่อกันอย่างไร ต่ออุปัชฌาย์อย่างไร ต่อที่ประชุมอย่างไร วินัยที่กำหนดให้เคารพต่อกันระหว่างผู้มีพรรษาแก่อ่อนกว่ากันไม่ว่าชาติตระกูลจะเป็นอย่างไร พระสงฆ์ต้องเคารพต่อพระธรรมความถูกต้องเป็นใหญ่ในการที่จะยอมรับกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันเพราะถ้าสังคมใดไม่เคารพต่อกฎหมายกติกาสังคมแล้วย่อมวุ่นวายเดือดร้อน เมื่อตรากฎหมายขึ้นมาอย่างไรก็ต้องเคารพต่อกฎหมาย ปฎิบัติตามกฎหมายนั้น รู้จักใช้สิทธิและหน้าที่ของตนไม่ก้าวก่ายกันมีหน้าที่อย่างไรก็ปฎิบัติไปอย่างนั้น มีสิทธิอย่างไรก็ควรจะใช้สิทธิอย่างนั้นภายในขอบเขตของกฎเกณฑ์ วินัยจึงเป็นรากฐานของประชาธิปไตย พระพุทธศาสนาได้วางหลักของวินัยที่ก่อให้เกิดประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ดังกล่าวนั้น
       3.4 ความถูกต้อง-ถูกใจ ในพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ทรงถือความถูกต้องเป็นใหญ่มิได้ถือความถูกใจ เพราะถูกต้องกับถูกใจนั้นเป็นคนละเรื่องกัน บางครั้งบางเรื่องอาจเป็นไปอย่างถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ บางครั้งถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง จึงต้องถือความถูกต้องไว้เป็นหลักเพราะความถูกต้องนั้นเป็นเรื่องของธรรม ของส่วนรวม แต่ความถูกใจนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวเรื่องความเห็นแก่ตัวประชาธิปไตยนั้นเป็นหลักของการคำนึงถึงความผาสุกของส่วนรวม พระพุทธองค์ตรัสว่า “ปชาสุขํ มหตตมํ” ความผาสุกของประชาชนเป็นเลิศอย่างยิ่ง
       ในการใช้ความถูกต้องของพระพุทธเจ้านั้น ดังเช่นในคราวหนึ่งพระภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องโลกนี้ โลกหน้า มีหรือไม่ สรีระนี้กับสรีระหน้าอันเดียวกันหรือไม่คนเราตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ ให้พระพุทธเจ้าทรงตอบ ถ้าไม่ทรงตอบจะขอลาสึกไม่บวชอยู่ต่อไป พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์เป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามธรรมคำสั่งสอนแต่ถูกใจของผู้ถาม พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์ให้และตรัสแก่ภิกษุนั้นว่า เธอจะสึกหรือจะอยู่ก็เป็นเรื่องของเธอ อนาคตไม่ได้ตั้งเงื่อนไขที่จะตอบปัญหานี้ให้เป็นความสมัครใจของผู้บวชในศาสนานี้นี่เป็นเรื่องของประชาธิปไตยที่จะต้องใช้ความคิดไปในทางที่ถูกต้องอย่าถือความถูกใจของตนมาเป็นใหญ่
       3.5 ความมีเหตุผล คำสอนของพระองค์ทรงแนะให้ใช้ปัญญาใคร่ครวญหาเหตุผลเช่น ในกาลามสูตรทรงสอนไม่ให้เชื่อโดยอาการ 10 อย่าง แต่ให้เชื่อโดยการพิจารณาคิดค้นหาเหตุผลและนำไปปฎิบัติในธรรมที่ได้ยินได้ฟังนั้นๆ เรื่องนี้ทรงสรรเสริญพระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง
การที่พระพุทธศาสนาสอนให้ใช้เหตุผลก็เพื่อให้คนพ้นจากความโง่งมงายเชื่อในสิ่งที่ไม่ใช่สาระประโยชน์ที่จะนำตนเองให้ออกจากทุกข์จึงได้สอนอย่างตรงไปตรงมา ตรงต่อความเป็นจริงไม่สอนให้เชื่อในเรื่องฤกษ์ยามหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก ที่จะมาบันดาลให้เราได้รับความเจริญหรือความเสื่อมได้นอกจากตัวของตัวเอง สอนให้รู้จักความจริงในเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพันที่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เนื่องจากการยึดถือในขันธ์ 5 สอนให้พึ่งตนเอง ไม่พาชีวิตไปผูกพันไว้กับสิ่งอื่น ให้เสริมสร้างคุณธรรมในตน ให้ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นไปจนเป็นเทวดา เป็นพรหมในชาตินี้ด้วยคุณธรรมไม่ใช่เป็นเทวดาหรือพรหมเมื่อตายแล้วสอนให้เชื่อในเรื่องของกรรมว่าด้วยการกระทำเป็นเหตุ ย่อมมีผลได้รับจากการกระทำนั้น ซึ่งตนเองเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่”พรหมลิขิต”สอนให้ใช้ปัญญาคิดค้นในสิ่งที่ถูกที่ควรอย่างมีอิสระเสรี มีเหตุผลตลอดเวลา
       จากรากฐานของธรรมธิปไตยที่เป็นเครื่องประกอบของหลักประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ของพระพุทธศาสนาดังกล่าวนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นสถาบันที่มีการใช้หลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่มีปัญหาอันใด แต่ในสังคมของชาวโลกเหตุที่ประชาธิปไตยยังมีปัญหาไม่ดำเนินไปอย่างราบรื่นเรียบร้อยก็เพราะเป็นการใช้หลักประชาธิปไตยที่ปราศจากหลักของธรรมาธิปไตยดังได้กล่าวมาด้วยประการฉะนี้

< กลับสู่หน้าหลัก

 
Free Web Hosting